วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Chirstmas special - Caroling

การร้องเพลงคารอลิ่ง

ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นของคืนวันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี ขณะที่ชาวบ้านกำลังนอนหลับสบาย เสียงเพลงคริสตมาสจากคณะนักร้องจะดังขึ้นตามถนนหนทาง ตามหน้าบ้าน เพื่อร้องเพลงอวยพร เช่นเดียวกับเสียงของฑูตสวรรค์ที่ปรากฎแก่ผู้เลี้ยงแกะ โยเซฟ และมาเรียในคืนที่พระเยซูประสุติในโรงวัวบ้านเบธเลเฮ็ม

บ้านของคริสเตียนจะเปิดออกต้อนรับคณะนักร้องเหลานี้มารับประทานผลไม้ ขนม และร้องเพลงสนุกสนานกันต่อไป เป็นความปิติยินดีของคณะนักร้องและความสุขของเจ้าของบ้าน ประเพณีกระทำกันในหมู่คริสเตียนไทยมาเป็นเวลานานแล้วที่เรียกว่า “ซาราเน็ด” หรือ “คารอลิ่ง” ในสมัยก่อนเรายังไม่มียวดยานพาหนะที่ส่งเสียงดัง เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนตร์ การร้องเพลงซาราเนดก็ทำได้ในบรรยากาศของความเงียบ และทุกคนก็ตั้งใจร้อง เพื่อระลึกถึงวันประสูติของพระเยซูในท่ามกลางความเงียบสงัดของบ้านเบธเลเฮมอย่างแท้จริง

แต่ในสมัยนี้เราหาความเงียบเช่นนั้นอีกไม่ได้แล้ว แม้แต่คณะนักร้องที่มาเยือนบ้านของเราก็ไม่อาจจะเงียบได้เช่นกัน การร้องเพลงคารอลิ่งจึงเกือบจะเป็นประเพณีที่ให้ความสนุกสนานแต่เพียงอย่างเดียว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงเกรงว่าจะสูญไป คือความหมายของการร้องเพลงซาราเนด บ่อยครั้งที่คณะนักร้องมุ่งไปเฉพาะบ้านที่ตนแน่ใจว่าจะเปิดรับพร้อมกับมีขนมเลี้ยง แต่บ้านของคนยากจนเรามักจะลืมเสีย ถ้าหากจะทำให้ถูกต้อง ต้องตามฑูตสวรรค์กระทำในคืนประสูติพระเยซู

อย่างไรก็ดีคำว่า “ซาราเนด” นี้ใช้เฉพาะในหมู่คริสเตียนไทยเท่านั้น ในต่างประเทศส่วนใหญ่ใช้คำว่า “คารอลิ่ง” การร้องเพลงทั้งสองอย่างมีลักษณะคล้ายกัน แต่ต่างกันตรงจุดประสงค์ในตอนแรก คำว่า “ซาราเนด” หมายถึงเพลงที่พวกหนุ่ม ๆ ยุโรปสมัยกลางออกไปร้องเพลงที่มุมบ้านหรือริมหน้าต่างห้องนอนสาวคนรัก ในคืนอันแสนจะโรแมนติก หญิงสาวก็จะเปิดหน้าต่างออกมา ถ้าเป็นหนุ่มที่ตนรักก็จะโยนช่อดอกไม้ลงมา ถ้าเป็นหนุ่มที่ตนไม่ชอบหน้า เธอก็จะโยนกระถางดอกไม้ลงมา หนุ่มบางคนร้องเพลงไม่ค่อยเป็น เขาก็จะจ้างนักร้องเสียงดี ๆ มาร้องอยู่ตรงมุมตึก หรือในร่มเงาต้นไม้ แล้วตัวเขาจะไปยืนออกท่าทางอย่างสง่าอยู่ท่ามกลางแสงจันทร์

ส่วนคำว่า “คารอลิ่ง” เป็นการร้องเพลงคริสตมาส ซึ่งอาจเริ่มจากการนมัสการ คำว่า “คารอลิ่ง” มาจากภาษาลาตินว่า “คาโรล่า” ซึ่งมีความหมายว่า “รำวง” ในสมัยโบราณเขาคงจะร้องเพลงเหล่านี้พร้อมกับกระโดดโลดเต้นไปรอบ ๆ เป็นวงกลมนั่นเอง การร้องเพลงคารอลิ่งนี้จึงมีมาแต่สมัยกลางของยุโรปเป็นต้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น